Penfill

Ethnographic Research

การศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือ
การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม

Asset 1

บางครั้งสิ่งที่ผู้คนพูด สิ่งที่ผู้คนทำ และสิ่งที่พวกเขาทำอาจจะต่างไปเป็นคนละอย่างกันเลย ดังนั้นนอกจากจะรับบทบาทเป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว เราจำเป็นจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่เขาพูดได้มากกว่าเดิม หาแนวทางที่จะสืบค้นถึงปัญหาได้อย่างถ่องแท้ สังเกตสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในจิตใจของเขา ตรวจสอบ วิเคราะห์ต่อยอดเกิดเป็นนวัตกรรมช่วยแก้ไขปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านผลิตภัณฑ์และบริการด้วย Ethnographic Research หรือที่เรียกกันว่า ‘การศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม’


Ethnographic Research คือ

การศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Participant Observation; ถ้าตามศัพท์วิชาการคือการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา) เป็นการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง เห็นในสิ่งที่ลูกค้าเห็น สัมผัสในสิ่งที่ผู้ใช้เป็นอยู่ เปิดม่านเข้าไปในหลังเวทีของกลุ่มเป้าหมาย ลงพื้นที่เข้าไปสังเกตการณ์ ณ สถานที่ที่เป็นบริบทจริง รับประสบการณ์ด้วยสายตาและใจที่เปิดกว้าง ช่างสังเกต จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ได้บอกแค่ว่า “มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง (WHAT)” แต่ทำให้เห็นว่า “ทำไมถึงเกิดขึ้น เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น (WHY)” และ “อย่างไร (HOW)” ทั้งหมดจะส่งผลให้ได้ข้อมูลในสิ่งที่คนไม่ได้บอกที่สะท้อนผ่านพฤติกรรม การกระทำ และการแสดงออกที่เป็นจริงในแบบของเขา ข้อมูลเชิงลึกที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่อาจตอบได้ หรือนึกไม่ถึง เพื่อสามารถนำไปออกแบบ พัฒนาจากความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด (Customer-Centric)

(Photo credit: www.Pexels.com)


ตัวอย่างลักษณะงานที่ใช้การศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม

Product Development

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมุมมองของผู้บริโภค ลูกค้าและผู้ใช้ ด้วยการทดลองเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ เข้าใจในความรู้สึกของลูกค้า และพัฒนาให้ตรงกับความต้องการ

UX/UI Development

การพัฒนาประสบการณ์ผู้ใช้ โดยเป็นการประยุกต์แนวทางของการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมตั้งแต่ทดลองผลิตภัณฑ์ไปจนถึงช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยมุ่งสังเกตพฤติกรรมการใช้งาน ปฏิสัมพันธ์ที่มี Interaction ปฏิกิริยาตอบสนองต่อระบบการใช้งานที่เชื่อมต่อกับผู้ใช้ (Interface) และการสื่อความหมายต่าง ๆ จะทำให้พัฒนา UX/UI ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นการพัฒนาจากมุมมองของผู้ใช้ เข้าใจว่าผู้ใช้ต้องการอะไร และควรจะปรับแก้ไขอย่างไรให้ตอบสนองต่อผู้ใช้ เช่น สร้างความเป็นมิตรมากขึ้น พูดคุยสื่อสารในภาษาที่คนเข้าใจ ใช้งานง่าย สะดวก เป็นต้น รวมไปถึงนำเสนอทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานด้วย

Operations Management

การบริหารการปฏิบัติการ พัฒนาระบบปฏิบัติการ ระบบการให้บริการลูกค้า ขั้นตอนการทำงานใหม่ที่จะมาแทนที่ของเดิม เช่น ขั้นตอนการเคลมประกัน ระบบการให้สินเชื่อลูกค้าธนาคาร การพัฒนาการดำเนินงานภายในต่างๆ ให้ตอบสนองผู้ใช้บริการได้อย่างทันท่วงที การประสานงานภายในไม่ติดขัด และบุคลากรมีความสุขในการทำงาน

Strategy Planning

การวางแผนกลยุทธ์ ในปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายนำ ‘การศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม’  ไปปรับใช้ภายในองค์กรเพื่อใช้วางแผนกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างเช่น Intel ที่ต้องการจะบุกตลาดใหม่สำหรับผู้ใช้งานในบ้าน (Home use) ในปี 1995 จากเดิมที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้สำหรับที่ทำงานบริษัทเท่านั้น Intel จึงได้ประยุกต์ใช้ Ethnographic Methods เข้าไปในโครงการใหม่เพื่อหาคำตอบที่คนก็ไม่อาจตอบได้จากการถามตอบ ทำการศึกษาวิจัยกลุ่มผู้ใช้งานในบ้านร่วมกับวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อและการใช้เทคโนโลยีของคนต่างยุคต่างวัย (Generation) จัดทำกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Fast-Changing Markets) และตีตลาดดังกล่าว

Sustainable Development

การพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่มักมีหลายฝ่าย/ส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งการจะทำให้ยั่งยืนนั้นควรศึกษาให้รอบด้าน ครบทุกมิติ และการใช้เทคนิค Ethnography จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ตอบสนองต่อความคาดหวังได้เป็นอย่างดี จากข้อมูลเชิงลึกที่มีความละเอียดถี่ถ้วน ข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน เชื่อถือได้ อีกทั้งช่วยตรวจสอบสมมติฐาน หรือแนวความคิดได้ด้วย เช่น พัฒนาเมือง โครงการอสังหาริมทรัพย์ พัฒนาชุมชน เป็นต้น จะทำให้เห็นภาพรวมวงจรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

Complicated/Critical Design Challenges

การออกแบบพัฒนาเรื่องที่ซับซ้อนหรือละเอียดอ่อน เช่น การนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ต่างบริบทต่างวัย การให้บริการทางการแพทย์ที่มีพฤติกรรมของคนไข้ที่หลากหลายและความต้องการรักษาที่แตกต่างกัน การออกแบบบริการและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เป็นต้น

(Photo credit: www.unsplash.com)


วิธีการในการศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม

5 เทคนิคในการศึกษาวิจัยประกอบด้วย

  1. ศึกษาเอกสารและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง (Archival Research)
  2. การลงพื้นที่สำรวจ (Survey)
  3. สัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)
  4. ลงไปใช้ชีวิตผสมกลมกลืน (Live and Work)
  5. การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Participant Observation)

โดย Live and Work เหมาะกับโครงการที่มีเวลาในการวิจัย เพราะใช้เวลาค่อนข้างมาก กลับกันเทคนิค Participant Observation จะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าและได้ข้อมูลไปใช้ได้เร็วกว่า ซึ่งเป็นวิธีการเก็บข้อมูลที่เอาตัวเข้าไปอยู่ในบริบทจริงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ไปสัมผัสโลกจริง พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายในสถานการณ์ที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน ทำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ แนวความคิด มุมมอง ทัศนคติ ความรู้สึกได้อย่างครบถ้วน

Tips: ถ้าเป็นไปได้ ควรจัดคนภายในทีมให้มีความหลากหลาย (Cross-functional team) จะช่วยให้ผลลัพธ์ที่มีความหลากหลายจากสายตาการจับตามองที่แตกต่างกัน


ข้อดีของการศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม

  • ข้อมูลน่าเชื่อถือ เพราะเป็นข้อมูลที่เก็บรวมรวมจากการสังเกตพฤติกรรม ณ สภาพแวดล้อมจริง (Real-life environment)
  • ข้อมูลมีความละเอียดและสมบูรณ์ เพราะการได้คลุกคลีสัมผัสประสบการณ์ ร่วมกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องนั้น ๆ อย่างเต็มที่
  • ช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจให้ชัดเจนถูกต้องมากขึ้นทั้งในรูปแบบสนับสนุนและขัดแย้ง ทำให้เห็นต่างมุมมองและมิติอื่น
  • ช่วยระบุประเด็นปัญหา วิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขสิ่งที่ไม่คาดคิด หรือ ไม่ชัดเจนได้
  • หากศึกษาและสังเกตเจาะลึกด้วยนักวิจัยที่มีประสบการณ์สูงจะทำให้ได้ข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึก (Insights) สัมพันธ์กับทัศนคติและอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เปิดเผยออกมาทางคำพูด


ข้อจำกัดของการศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม

  • เหมาะสำหรับการศึกษาจำนวนน้อย และเน้นไปที่คุณภาพของข้อมูล
  • ผู้วิจัยต้องมีทักษะการช่างสังเกต มีไหวพริบ และการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
  • ผู้วิจัยต้องมีความเป็นกลาง ไม่อคติและลำเอียง
  • ผู้วิจัยต้องมีความสามารถในการพูดคุยกับคนแบบเปิดใจกว้าง เข้าใจความรู้สึกของผู้พูดในสายตาของเขา หรือเรียกว่าต้องมี Empathy นั้นเอง

Reference: Ken Anderson, Harvard Business Review, Ethnographic Research: A Key to Strategy, Intel Research